วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 พ.ย. 2567

| 72 view

Add_a_subheading_(1)_2

 

  •  แนะนำตัว

    สวัสดีครับ ผม ชานนท์ สุขุมเดชะ (กาโตว์) นักการทูตปฏิบัติการ กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศครับ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะเกาหลี ดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) รวมถึงสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีครับ

  • ชีวิตและประสบการณ์ก่อนมาทำงานที่กรมฯ

    หลังเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับทุนกระทรวงการต่างประเทศให้ไปศึกษาต่อปริญญาตรี - โทที่ญี่ปุ่น ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นมาเป็นเวลา 7 ปีกว่า โดยเรียนจบ ป.ตรี จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi และ ป.โท จาก Graduate School of Asia-Pacific Studies มหาวิทยาลัย Waseda และเรียนเน้นด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของญี่ปุ่น

    ตอนอยู่ญี่ปุ่นเคยทำงาน part-time ที่หลากหลาย โดยงานหลักที่ทำเป็น นักแปล/ผู้ประกาศข่าววิทยุ ของสำนักข่าว NHK World-Japan ภาคภาษาไทย ซึ่งมีฐานผู้ฟังเป็นคนไทยที่อยู่ทั้งในญี่ปุ่นและในไทย โดยระหว่างทำงาน นอกจากจะได้ติดตามข่าวต่าง ๆ ด้านการต่างประเทศและการเมืองญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังมีโอกาสทำรายการด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคมของญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ เนื้อหางานก็ยังมีความท้าทายเพราะต้องแปลข่าวในเวลาที่จำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อที่จะสามารถนำไปประกาศข่าวสดทางวิทยุทันทีหลังจากนั้น จึงทำให้ได้ฝึกทักษะการบริหารจัดการเวลา ความรอบคอบ และสติเป็นอย่างมาก เพิ่มเติมจากทักษะทางด้านการแปล

    นอกจากนี้ ก็ยังเคยทำงานอื่น ๆ เช่น นักแปลและผู้ลงเสียงภาษาไทยให้กับบริษัท/หน่วยงานต่าง ๆ ของญี่ปุ่น อาทิ โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานสาธารณสุขของญี่ปุ่นช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ วิดีทัศน์สำหรับใช้ฝึกอบรมภายในของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเคยเป็นครูสอนภาษาไทย/ญี่ปุ่น ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบการแปลภาษาให้บริษัทเกม ล่ามคณะจากหน่วยงานไทยที่เดินทางมาเยือน/ศึกษาดูงานที่กรุงโตเกียว ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปก็คือเคยทำงานด้านภาษามาค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็เป็นงานที่ชอบและรู้สึกได้พัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันก็ได้ใช้ทักษะที่สั่งสมมาในการทำงานด้านการต่างประเทศ

    ในด้านการเรียน ก็เน้นด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่นในด้านการทหาร ซึ่งแต่เดิมญี่ปุ่นพยายาม “กลบ” บทบาทในด้านนี้ของตัวเองเนื่องจากประวัติศาสตร์ด้านมืดของญี่ปุ่นที่มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อบริบททางการเมืองระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ก็แปรผันไปตามกาลเวลา ญี่ปุ่นก็ได้ปรับท่าทีที่โอบรับบทบาทด้านการทหารของตัวเองมากขึ้น แม้ในทางปฏิบัติจะไม่ถือว่าญี่ปุ่นมีกองทัพเป็นของตัวเองก็ตาม โดยการวิจัยของตัวเองก็ได้ศึกษาพัฒนาการของสิ่งในชีวิตประจำวันอย่างเช่น หนังสือการ์ตูน ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมทั้งมองดูแนวโน้มในอนาคต

    สมัยอยู่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ได้เจอเพื่อนชาวญี่ปุ่นแล้วก็ยังเจอเพื่อนชาวต่างชาติที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศต่าง ๆ อาทิ รัสเซีย จีน เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน อิหร่าน เนื่องจากปัจจุบัน ญี่ปุ่นก็พร้อมโอบรับชาวต่างชาติมากขึ้น ตัวเองจึงได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับความรู้กับผู้คนจากหลาย ๆ ชาติ หลาย ๆ คนก็ยังเป็นเพื่อนต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การได้รับทุนจึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่นอกจากจะให้โอกาสไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้ว ยังให้โอกาสในการพัฒนาตัวเองผ่านการทำงานในที่ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับโอกาสไปทำ โดยเฉพาะในด้านแปลกใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ได้รับโอกาสในการทำวิจัยในประเด็นที่ตนเองชื่นชอบ อีกทั้งยังได้รับโอกาสในการสานมิตรกับเพื่อนมากมายทั้งจากญี่ปุ่นและจากทั่วโลก

  • เข้ามาทำงานที่กระทรวงฯ ได้อย่างไร

    ก่อนสอบทุน (ช่วง ม. 6) สนใจที่จะเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับเดิมมีความชอบความสนใจในญี่ปุ่นและเรียนภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่ ม.ปลาย จึงตั้งใจที่จะหาทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นมาโดยตลอด แล้วในช่วงจบ ม. ปลาย ในแต่ละปีจะมีการประกาศรับสมัครทุนกระทรวงการต่างประเทศ ตัวเองจึงติดตามมาโดยตลอด พอมีประกาศว่ากระทรวงการต่างประเทศเปิดรับผู้ที่จะรับทุนให้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ตนจึงสมัครโดยไม่ลังเล ถือว่าในปีนั้นโชคดีมากเนื่องจากในแต่ละปี ก็จะมีการสับเปลี่ยนประเทศที่จะส่งนักเรียนทุนไป นอกจากนี้ พื้นฐานยังเป็นคนสนใจทำงานภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน เพราะมองว่าหากทำงานอะไร ก็อยากทำงานมีช่วยเหลือสังคม/ประชาชน จึงคิดว่าการนักการทูตก็สามารถตอบโจทย์ของตัวเองได้

 

  • การมาเริ่มงานที่กรมเอเชียตะวันออก

    พอได้รับทุนก็มีโอกาสได้มาฝึกงานที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว หลายครั้ง รวมถึงที่กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้เห็นภาพการทำงานจริง ๆ ของพี่ ๆ มาตลอดมีตั้งแต่งาน routine งานเชิงวิชาการ ไปจนถึงการเตรียมงานใหญ่ ๆ เช่น เทศกาลไทยที่โตเกียว โดยตนเคยช่วยงานในฐานะ จนท. Backstage หลังเวทีเทศกาลไทยที่โตเกียวหลายครั้ง ซึ่งก็ได้ช่วยเป็นล่ามให้ศิลปินและอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ หลังเวที ที่ผ่านมา จึงได้เห็นกระบวนการทำงานของนักการทูตที่หลากหลายมาก ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการทำงานที่โต๊ะ ที่การไปเข้าประชุมดังที่เป็นภาพจำทั่วไป

    การมาเริ่มทำงานที่กรมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกองเอเชียตะวันออก 4 ที่ดูแลญี่ปุ่นกับเกาหลี จึงไม่ได้มีอะไรที่เหนือความคาดหมายมากนักเนื่องจากได้เห็นภาพมาบางส่วนแล้ว ถือว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยทำให้ตัวเองไม่ตื่นตกใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ได้ค่อนข้างดีมาก

  • ทำงานจริงแล้วเป็นอย่างไร

    ถึงแม้ว่าช่วงแรกจะใช้เวลาปรับตัวนาน แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทการทำงานใหม่ ส่วนหนึ่งก็ด้วยกระบวนการทำงานที่มีความเฉพาะของกระทรวงฯ ภาษาราชการ รวมถึงเนื้องานบางอย่างที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในตอนแรกเนื่องจากไม่เคยรู้มาก่อน แต่พอได้มาทำงานเรื่อย ๆ เข้าใจประเด็นมากขึ้น ก็รู้สึกสนุกกับงาน ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ที่คอยช่วยสอนงานด้วย

    นอกจากนี้ ในช่วงแรกได้รับหน้าที่ให้ดูแลโต๊ะการเมืองญี่ปุ่น จึงไม่ได้รู้สึกแปลกใหม่กับงานที่ทำมากนักเพราะเป็นการทำงานใน comfort zone ของตัวเองและตนเองก็มีพื้นฐานในด้านนี้มาเยอะ แต่พอกองเอเชียตะวันออก 4 มีการเปลี่ยนโครงสร้างในช่วงถัดมา ก็ได้รับมอบหมายให้มาดูแลโต๊ะเกาหลีแทน ซึ่งมองว่าท้าทายมากในช่วงแรก เพราะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเกาหลีมากขนาดนั้น ถ้ามีก็ในระดับที่ผิวเผิน ทำให้ในช่วงแรกก็ติดขัดในการทำงานเหมือนกัน แต่พอได้ทำไปเรื่อย ๆ ก็ชอบ เพราะเป็นโอกาสพัฒนาตัวเองในหลายด้านมาก เนื่องจากต้องดูแลทั้งประเด็นการเมืองกับเศรษฐกิจ
   
    เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ความสัมพันธ์กับไทยค่อนข้างนิ่งแล้ว ไทยยังมีความร่วมมืออีกหลายด้านที่ยังสามารถผลักดันต่อไปได้กับเกาหลีใต้ การมาเป็นโต๊ะเกาหลีจึงรู้สึกสนุกกว่าเดิมมาก อีกทั้งยังทำให้เห็นภาพบทบาทของตัวเองชัดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรมมากขึ้นในฐานะนักการทูตซึ่งมีหน้าที่ผลักดันความสัมพันธ์ไทยกับต่างประเทศ

    ในส่วนของการบริหารจัดการเวลาในการทำงาน ในช่วงแรกก็มีปัญหาแต่เมื่อสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะรู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ต้องหาข้อมูลจากไหน และต้องถามหน่วยงานไหน/ใคร หากมีปัญหา เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของชั่วโมงบินด้วย ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพยายามสร้างเวลาให้กับตัวเองได้ไปออกำลังกาย พบปะสังสรรค์กับเพื่อน กับคนนอกกระทรวง เพราะสร้าง down time ให้ตัวเอง เพราะก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถมีแรงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในภายภาคหน้า

 

  • ความประทับใจในการทำงานที่กรมฯ

    กรมเอเชียตะวันออกขึ้นชื่อว่าเป็นกรมที่งานยุ่งที่สุดกรมหนึ่งของกระทรวงเพราะทุกประเทศที่กรมเอเชียตะวันออกดูแลต่างเป็นประเทศสำคัญกับไทยในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น แต่ถึงแม้งานจะยุ่งขนาดไหน ส่วนตัวก็ประทับใจกับกรมฯ เพราะผู้คนในกรม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ หรือผู้บริหาร ต่างก็คอยสนับสนุนและให้คำปรึกษากันเป็นอย่างดี จึงรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่มีโอกาสได้มาทำงานที่กรมเอเชียตะวันออก


___________________
สามารถติดตามและรับฟังบทสัมภาษณ์ได้ทางช่อง Saranrom Radio ที่ลิงก์ : https://youtu.be/eeuULJ7NGjY?si=7M-tqn8gWD2h3utG