ท่าเรือชินโจวโชว์ศักยภาพในการขนส่งรถยนต์ EV

ท่าเรือชินโจวโชว์ศักยภาพในการขนส่งรถยนต์ EV

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ม.ค. 2567

| 613 view

   หากจะพูดถึง ‘เบอร์หนึ่ง’ ของท่าเรือทะเลในจีนตะวันตก นอกเสียจาก “ท่าเรือชินโจว” คงเป็นใครไปไม่ได้ (Qinzhou Port) เพราะเป็นท่าเรือหลักของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) และเป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญในการขนส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดระหว่างมณฑลในภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศ (อาเซียน) ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” (Multimodal Transportation)

   ด้วยความอเนกประสงค์ของ “ท่าเรือชินโจว” ซึ่งการันตีด้วยปริมาณขนถ่ายสินค้าที่เติบโตด้วยตัวเลข ‘สองหลัก’ ติดต่อกัน 7 ปี สินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรือแห่งนี้มีความหลากหลาย รวมถึงรถยนต์

   กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า รถ EV (electric vehicle) ที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดย “จีน” ได้ขึ้นแท่นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก 8 ปีซ้อน ในภูมิภาคตะวันตกของจีน ต้องบอกว่า “นครฉงชิ่ง” เป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับชั้นนำของจีน อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าได้สร้างรายได้ของภาคการส่งออกให้กับนครฉงชิ่งไม่น้อย

   เทรนด์การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ในนครฉงชิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัท Seres Group (赛力斯集团) และบริษัท Changan Automobile (长安汽车) ได้เริ่มหันมาใช้ “ท่าเรือชินโจว” เป็น ‘ช่องทาง’ ในการส่งออก เพราะโมเดลการขนส่ง “ราง+เรือ” ที่ท่าเรือชินโจว มีความได้เปรียบด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่าการขนส่งแบบเดิมที่ลำเลียงรถยนต์โดยใช้ท่าเรือเซี่ยงไฮ้เพื่อการส่งออก

   นายจาง ซิงเยี่ยน (Zhang Xingyan/张兴燕) ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศของ Seres Group (赛力斯集团海外事业部总经理) เปิดเผยว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบเดิมที่ส่งออกผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้ การส่งออกที่ท่าเรือชินโจวลดเวลาการขนส่งได้ถึง 10 - 20 วัน เมื่อก่อน การส่งออกไปประเทศอินโดนีเซียผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาประมาณ 30 วัน หลังจากเปลี่ยนไปใช้ท่าเรือชินโจวใช้เวลาเพียง 18 วัน

   ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ท่าเรือชินโจวได้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าล็อตใหญ่สุดในรอบปี เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าจากนครฉงชิ่ง จำนวน 64 คัน ที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 32 ตู้ น้ำหนักรวม 148 ตัน ได้ลำเลียงขึ้นเรือสินค้าที่ท่าเรือชินโจว เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม

   นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา ท่าเรือชินโจวได้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของนครฉงชิ่งแล้ว 15 ล็อต รวมจำนวน 411 คัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวได้คาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออกรถยนต์ผ่านท่าเรือชินโจวจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คันภายใน 5 ปี ข้างหน้า

   นอกจากข้อได้เปรียบด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจพิจารณาใช้ท่าเรือชินโจวเพื่อการส่งออก-นำเข้าสินค้า

   อย่างในกรณีของรถยนต์จัดเป็นสินค้าอันตราย ประเภทที่ 9 (วัสดุอันตรายเบ็ดเตล็ด) ดังนั้น การขนส่งรถยนต์ทางทะเลด้วยตู้คอนเทนเนอร์ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการขนส่งสิ่งของอันตราย (United Nations Recommendations on the Transport of Dangerous Goods) และข้อกำหนดว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย ทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code, IMDG Code) ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวด รัดกุมและซับซ้อน

   สำนักบริหารความปลอดภัยทางทะเลกว่างซี หรือ Guangxi Maritime Safety Administration (广西海事局) ได้บูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) และกลไกการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้น สินค้าที่ผ่านการตรวจสอบที่ต้นทางแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดตู้เพื่อตรวจใหม่อีกครั้งที่ท่าเรือปลายทาง (ชินโจว) สินค้าก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายไปยังตู้สินค้าใหม่

   การบูรณาการกลไกการทำงานที่กล่าวมาข้างต้น ช่วยให้ผู้ส่งออกประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก หากไม่มีกลไกการทำงานดังกล่าว สินค้าจะต้องถูกเปิดตรวจอีกครั้ง ทำให้สินค้าต้องค้างที่ท่าเรืออย่างน้อย 3 - 5 วัน และผู้ส่งออกต้องเสียค่าธรรมเนียมค้างที่ท่าเรือ 2,000 หยวนต่อวันต่อตู้

   บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พัฒนาการการขนส่งสินค้าข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสำเร็จของท่าเรือชินโจวในการก้าวขึ้นมาเป็นข้อต่อสำคัญที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์ตามแนวระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่

   นอกจากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง (เป็นท่าเรือของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับชาติสมาชิกอาเซียนมากที่สุด) และการสนับสนุนเชิงนโยบายจากส่วนกลางอย่างต่อเนื่องแล้ว ท่าเรือชินโจวยังมีจุดเด่นอีกหลายข้อ ที่ทำให้ผู้ประกอบการจีนและต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการไทย หันมาเลือกใช้การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือ (ท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของจีน) การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบโมเดล “เรือ+ราง” (ปัจจุบัน ครอบคลุมไปยัง 138 สถานีใน 69 เมืองใน 18 มณฑล) และการอำนวยความสะดวกด้านการปฏิบัติพิธีการศุลกากร อย่างตู้ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปถึงท่าเรือชินโจว หากตู้สินค้าไม่ได้ถูกระบบสุ่มเก็บตัวอย่าง ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีก็สามารถลำเลียงออกจากท่าเรือได้แล้ว ในทางกลับกัน การส่งออกสินค้าที่ลำเลียงด้วยรถไฟเข้าไปในท่าเรือชินโจวก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตู้เปลี่ยนพาหนะให้ยุ่งยาก
   ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทย กำลังมองหาช่องทางการขนส่งสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว และครบครัน “ท่าเรือชินโจว” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในการทำการค้ากับประเทศจีน โดยเฉพาะกับมณฑลในภาคตะวันตกและภาคกลาง

 

ที่มา:

รายงานสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เรื่อง ท่าเรือชินโจวโชว์ศักยภาพในการขนส่งรถยนต์ EV