การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ของสิงคโปร์

การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ของสิงคโปร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ก.ย. 2565

| 1,167 view

นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Global Space and Technology Convention ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แจ้งว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะลงทุน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และสังคมของสิงคโปร์

 

การเติบโตของภาคเทคโนโลยีอวกาศทั่วโลกและภูมิภาค

ภาคเทคโนโลยีอวกาศทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสื่อ CNBC ระบุว่าเมื่อปี 2564 ปริมาณการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีอวกาศทั่วโลกสูงถึง 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากปี 2563 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4/2564 ได้สร้างสถิติใหม่ที่การลงทุนสูงถึง 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัท Sierra Space บริษัท SpaceX ของนักธุรกิจนาย Elon Musk และบริษัท Planet Labs จำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2583

ตั้งแต่ปี 2503 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มต้นการสำรวจอวกาศ ซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาและปรับตัวไปอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม จากบทความที่เผยแพร่โดยกลุ่ม Tech Collective SEA แหล่งข้อมูลออนไลน์ด้านเทคโนโลยีระบุว่า จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย ถือเป็นประเทศ ชั้นนำของเอเชียในด้านโครงการวิจัยอวกาศที่นำโดยภาครัฐ

 

ภาคเทคโนโลยีอวกาศในสิงคโปร์ และการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในสิงคโปร์เติบโตอย่างสูงและต่อเนื่อง โดยมีวิสาหกิจมากกว่า 50 แห่ง และจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,800 อัตรา วิสาหกิจเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคมนาคมที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ เช่น การบินและการเดินเรือ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน อาทิ การใช้ระบบกำหนดตำแหน่งทั่วโลก (GPS) สำหรับการเดินทาง ขนส่งและการจัดส่งพัสดุ

สิงคโปร์จัดตั้งสำนักงานกิจการอวกาศ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (Office for Space Technology and Industry, Singapore -OSTIn) ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงธุรกิจระดับโลก สตาร์ทอัพท้องถิ่น หน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของสิงคโปร์ในด้านการวิจัยและเทคโนโลยีให้แข็งแกร่ง ตัวอย่างความสำเร็จในสิงคโปร์ ได้แก่ (1) บริษัท Addvalue ซึ่งเป็น SME ของสิงคโปร์ ได้พัฒนาระบบถ่ายทอดข้อมูลระหว่างดาวเทียม (Inter-satellite Data Relay System – IDRS) เพื่อเปิดใช้งานดาวเทียมแบบทันที (real-time) ภายในระยะเวลา 1 ปี บริษัท มีลูกค้าเชิงพาณิชย์ 7 ราย และมีแผนที่จะติดตั้งดาวเทียมกว่า 240 ดวง และ (2) หลังจากการปะทุของภูเขาไฟในตองกาครั้งล่าสุด นักวิจัยที่หอดูดาวโลกของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) สิงคโปร์ ได้ใช้ภาพถ่ายเรดาร์จากดาวเทียมเพื่อพัฒนาแผนที่ความเสียหายของภูมิภาค ซึ่งช่วยในการระบุความเสียหายต่ออาคาร โครงสร้างพื้นฐานและพืชพรรณได้ และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นระบบ

 

กลยุทธ์รัฐบาลสิงคโปร์ในการพัฒนาภาคเทคโนโลยีอวกาศปี 2565

ในปี 2565 รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดกลยุทธ์ 3 ประเด็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ดังนี้

3.1 สำนักงานกิจการอวกาศ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (Office for Space, Technology and Industry, Singapore – OSTIn) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ความสามารถและศักยภาพด้านอวกาศจำนวน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Development Programme – STDP) เช่น สำนักงาน OSTIn สนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย NUS NTU และวิสาหกิจในสิงคโปร์ ได้แก่ บริษัท ST Engineering (รัฐวิสาหกิจด้านการบินและการคมนาคมของสิงคโปร์) บริษัท Aliena และบริษัท Lighthaus เพื่อพัฒนาโซลูชันดาวเทียม Very Low Earth Orbit (VLEO) ที่มีวงโคจรใกล้โลกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ดาวเทียมสามารถส่งมอบความสามารถที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพ

 

3.2 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ร่วมมือกับวิสาหกิจสิงคโปร์ เพื่อสร้างความสามารถด้านเทคนิคในเชิงลึก สนับสนุนการแปลงงานวิจัยและเทคโนโลยีให้ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมให้บริษัทแข่งขันได้ในระดับสากล เช่น สำนักงาน OSTIn สนับสนุนบริษัท SpeQtral (แยกตัวมาจาก Center of Quantum Technologies ของมหาวิทยาลัย NUS) เปิดตัวดาวเทียมแสดงโซลูชัน Quantum Key Distribution (QKD) ซึ่งจะช่วยให้ส่งข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยีควอนตัม รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกันอยู่เสมอ เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 สำนักงาน OSTIn ได้ลงนามในแถลงการณ์เจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์กับบริษัท Amazon Web Services (AWS) ซึ่งมีสำนักงานภูมิภาคในสิงคโปร์ เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมด้านอวกาศในสิงคโปร์ ธุรกิจอวกาศในสิงคโปร์สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่หลากหลายของบริษัท AWS ในด้านการประมวลผลแบบคลาวด์เพื่อการใช้งานด้านอวกาศ

 

3.3 ในด้านการพัฒนาบุคลากร สิงคโปร์จะร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเดินทางในอวกาศ เช่น (1) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 สำนักงาน OSTIn ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับหน่วยงาน European Space Agency ของสหภาพยุโรปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือว่าด้วยข้อริเริ่มด้านเทคโนโลยีอวกาศและโทรคมนาคม (2) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน OSTIn ได้ลงนามเพื่อต่ออายุบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานการบินอวกาศแห่งฝรั่งเศส (French Space Agency) 3) ปี 2564 OSTIn ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายรายเพื่อจัดโครงการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics - STEM) รวมถึงโปรแกรม "Spacelab" ที่นักศึกษาสิงคโปร์ใช้เวลาหลายเดือนในการออกแบบการทดลองแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งหนึ่งในการทดลองได้รับเลือกให้เปิดตัวสู่สถานีอวกาศนานาชาติในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เทคโนโลยีอวกาศนอกจากจะช่วยสำรวจดาราจักร (galaxy) ที่อยู่ห่างไกล ยังมีความสำคัญต่อกิจกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมโลกในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยี GPS การสื่อสาร การประยุกต์ใช้การจัดการภัยพิบัติ การเกษตร การท่องเที่ยว การจัดการข้อพิพาทเรื่องพรมแดน และความมั่นคง เป็นต้น

บริษัท ST Engineering เปิดตัวดาวเทียมสำรวจโลกเชิงพาณิชย์เครื่องแรกที่ผลิตในสิงคโปร์ เมื่อปี 2558 ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดที่ให้บริการระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมแก่ลูกค้าทั่วโลก เช่น บริษัทสื่อสารสหรัฐฯ Verizon

สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ หรือ “Space Economy : Lifting Off” ร่วมกับโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ โดยสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน เศรษฐกิจอวกาศ ผลักดันให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดและสามารถขยายธุรกิจใน ประเทศไทยสู่ระดับสากล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสามารถพิจารณาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างกันได้ ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพ Startup ของสิงคโปร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่สิงคโปร์ ซึ่งมีความพร้อมความเชี่ยวชาญ และสนใจที่จะพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างจริงจัง

 

******************************

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์

สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.cnbc.com/2022/01/18/space-investing-q4-report-companies-hit-record-14point5-billion-in-2021.html

https://www.mti.gov.sg/Newsroom/Speeches/2022/02/Speech-by-Minister-Gan-Kim-Yong-at-the-14th-Global-Space-and-Technology-Convention

https://www.sginnovate.com/news/5-space-tech-startups-sea-paving-way-beyond

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/singapore-government-to-invest-150-million-in-space-tech-rd