การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ ๑๔ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ ๑๔ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.ย. 2565

| 288 view

เมื่อวันที่ ๙ - ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และดาโตะ ซรี ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เป็นประธานร่วมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ ๑๔ และ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่กรุงเทพมหานคร การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศของมิตรภาพและได้มีการหารือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย” เพื่อสะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยและมาเลเซียจะต้องร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์และเพิ่มพูนความร่วมมือในการส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ที่ประชุมมุ่งเน้นการหารือโดยให้ความสำคัญกับ 3P ประกอบด้วยการเพิ่มพูนการปกป้องคุ้มครองให้แก่ประชาชน (protection) การนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) และการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (partnership) ระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

๑. การปกป้องคุ้มครองประชาชน
ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในด้านการบริหารจัดการชายแดน โดยเฉพาะการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยยินดีที่ฝ่ายมาเลเซียแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๑ เพื่อหารือประเด็นความมั่นคงต่าง ๆ ในรายละเอียดต่อไป

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางความร่วมมือในด้านพลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกันด้วย

๒. การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง
- การค้า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘
- การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนและกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- การเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดให้โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ๒ แห่ง รวมทั้งจะศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงอื่น ๆ อาทิ โครงการความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐปะลิส และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย
- เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายมุ่งที่จะแสวงหาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นสาขาความร่วมมือใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายแสดงพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ การจับคู่ทางธุรกิจ และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพ
- แรงงาน ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการแรงงาน การจัดฝึกอบรมอาชีพ และการส่งเสริมการจ้างงาน

๓. การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน
- ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระดับประชาชนให้ใกล้ชิดผ่านการมอบทุนฝึกอบรมและทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงาน และโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ทั้งสองฝ่ายแสดงความสนใจที่จะกระชับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
- ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับพหุภาคี โดยมุ่งกระชับความร่วมมือในทุกระดับเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อพัฒนาการล่าสุดในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค อนึ่ง ฝ่ายไทยขอบคุณมาเลเซียที่สนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕

ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจกับผลลัพธ์ของการประชุมซึ่งจะช่วยเพิ่มพลวัตให้แก่ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - มาเลเซีย รวมทั้งกำหนดทิศทางความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคีระหว่างกันในอนาคต ทั้งนี้ ฝ่ายมาเลเซียได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยสำหรับการจัดการประชุมในครั้งนี้และแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ ๑๕ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๖ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ตามวันที่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องกันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ