BIC Insight : ส่องความคืบหน้าโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงประชิดเวียดนาม เส้นที่ 2 ของกว่างซี (จีน)

BIC Insight : ส่องความคืบหน้าโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงประชิดเวียดนาม เส้นที่ 2 ของกว่างซี (จีน)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 เม.ย. 2567

| 795 view

bic

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้าง“ความเชื่อมโยง” (Connectivity) ในหลากหลายมิติกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN เพื่อใช้กว่างซีเป็นสะพานผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างรอบด้าน

กล่าวได้ว่า “ขนส่งระบบราง” เป็นหนึ่งในไพ่ใบสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่จะใช้พัฒนาความเชื่อมโยงกับอาเซียน (เวียดนาม) โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไปประชิดชายแดนประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอยู่ 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรก “เมืองฝางเฉิงก่าง-เมือง(ระดับอำเภอ)ตงซิง” ติดเมืองม่องก๋าย (Mong Cai) จังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2566

bic1

ขณะที่การก่อสร้างช่วงเส้นทางที่ 2 “เมืองฉงจั่ว-เมือง(ระดับอำเภอ)ผิงเสียง” มีความคืบหน้ามากพอสมควร เมื่อไม่นานมานี้ อุโมงค์ทางรถไฟความเร็วสูงแห่งสุดท้ายเพิ่งขุดเจาะแล้วเสร็จ อุโมงค์แห่งสุดท้ายนี้มีความยาว 3,796 เมตร ความคืบหน้าของการก่อสร้างชั้นพื้นทาง (Sub grade) สำเร็จลุล่วงแล้วร้อยละ 98 ของโครงการ ขณะที่การก่อสร้างสะพานมีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 93 ของโครงการ

เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้แล้วเสร็จ จะช่วยพลิกโฉมการเดินทางระหว่างนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว-เมืองระดับอำเภอผิงเสียงให้เป็น “รถไฟความเร็วสูง” ตลอดเส้นทาง

รู้จัก…เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย นครหนานหนิง-เมือง(ระดับอำเภอ)ผิงเสียง” เป็นโครงการที่ลงทุนโดยรัฐบาลกว่างซี ใช้เงินลงทุนราว 14,900 ล้านหยวน มีระยะทาง 201 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

bic2

นับเป็นกุศโลบายของรัฐบาลกว่างซี(จีน)ในการกรุยทางเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่ง   ทางรางภายใต้โครงข่ายทางรถไฟสายทรานซ์-เอเชีย (Trans-Asia Railway Network) กับเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ในอนาคต

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน จีนกับเวียดนามการขนส่งระบบรางอยู่แล้ว เป็น “รถไฟธรรมดา” (ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้เพื่อการขนส่งสินค้า (ก่อนโควิด-19 มีบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามแดนด้วย) ระหว่างท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) เป็นจุดรวมตู้สินค้า – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) – ด่านด่งดัง (จังหวัดลางเซิน เวียดนาม) – สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย ใช้เวลาราว 16 ชั่วโมง

ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเป็นเรื่องของการผลักดันความร่วมมือระหว่างจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม 2 ประการ ประการแรก คือ การปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะโครงการพัฒนารางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรในเวียดนาม (จากจีน(กว่างซี) – สถานีด่งดัง เป็นรางผสม 1.435 เมตร / สถานีด่งดัง – สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เป็นราง 1 เมตร) ซึ่งจะช่วยให้ขนส่งสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวรถจักร/ขบวนรถที่สถานีด่งดัง

ประการที่สอง คือ การผลักดันโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางใหม่เชื่อมจีน(กว่างซี)-เวียดนาม โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Committee) ระหว่างรัฐบาลกว่างซีกับ 4 จังหวัดชายแดนเวียดนาม ได้แก่ จังหวัดฮาซาง (Hà Giang) จังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) จังหวัดลางเซิน (Lạng Sơn) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bằng) สองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองระดับอำเภอตงซิงกับเมืองม่องก๋าย จังหวัดกว๋างนิญ

สถานะปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงฝั่งจีนสามารถวิ่งไปถึงเมืองระดับอำเภอตงซิงแล้ว ขณะที่ฝั่งเวียดนาม เมื่อปลายปี 2566 รัฐบาลกวางนิงห์ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมเวียดนามเพื่อเพิ่มโครงการทางรถไฟที่เชื่อมต่อเมืองไฮฟอง – เมืองฮาลอง – เมืองม่องก๋าย (ขนส่งสินค้าและโดยสาร) เข้าไปในรายชื่อโครงการที่การรถไฟเวียดนามจะดำเนินการ   ทั้งนี้ เมื่อเส้นทางรถไฟตงซิง – ม่องก๋าย ได้สร้างขึ้นสำเร็จ จะเป็นเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม สายที่ 3 ต่อจากเส้นทางรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) – ด่งดัง – ฮานอย และเส้นทางรถไฟเหอโข่ว (ยูนนาน) – ลาวก่าย

บีไอซี เห็นว่า แนวโน้มการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถไฟในประเทศจีน เป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในมิติของการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ผู้ค้าเข้าถึงตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ

ปัจจุบัน บทบาทของรถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดที่การเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น หลายเมืองในจีนได้พัฒนารูปแบบการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์แล้ว รวมถึงนครหนานหนิงที่ได้สร้าง “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” ในปี 2564 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วจีนในอนาคต

ดังนั้น ในอนาคต หากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน(กว่างซี)-เวียดนามเกิดขึ้นเป็นจริง จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวในการขนส่งและกระจายสินค้าไทยไปทั่วประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา       เว็บไซต์ www.sasac.gov.cn (国资委) วันที่ 8 เมษายน 2567
            เว็บไซต์ https://news.cctv.com (央视新闻) วันที่ 4 เมษายน 2567
            เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn  (中国新闻网) วันที่ 2 เมษายน 2567
เครดิตภาพ sohu.com