เมืองฝางเฉิงก่างกับศักยภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม: โอกาสความร่วมมือและเรียนรู้ของธุรกิจไทย

เมืองฝางเฉิงก่างกับศักยภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม: โอกาสความร่วมมือและเรียนรู้ของธุรกิจไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ม.ค. 2567

| 718 view

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า... การอุบัติขึ้นของโควิด-19 และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging society) เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการดูแลสุขภาพและทัศนคติของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนไป (ป้องกันดีกว่ารักษา) ซึ่งได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ ‘เทรนด์สุขภาพ’ ที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงในประเทศจีน

    “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ เป็นผลพวงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ Shanghai Cooperation Organisation (SCO) ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

    รัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนให้เขตนำร่องฯ เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มุ่งสู่ประเทศสมาชิก SCO และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นพื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรมนานาชาติ เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวัฒนธรรมทางการแพทย์นานาชาติ และเป็น Highland ใหม่ด้านการแพทย์นานาชาติ

    อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 สาขา ประกอบด้วย (1) การเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง (2) การวิจัยและพัฒนายาระยะพรีคลินิก (pre-clinic) (3) การวิจัยและพัฒนาการแพทย์และยาแผนโบราณ และต่อยอดการพัฒนาในอุตสาหกรรม 3 สาขา ได้แก่ (3.1) อุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ (3.2) อาหารเพื่อสุขภาพ และ (3.3) การบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ
    กล่าวได้ว่า... เขตนำร่องฯ กำลังเป็น “ดาวรุ่งดวงใหม่” ในสายตาของนักลงทุน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขตนำร่องแห่งนี้สามารถดึงดูดโครงการลงทุน 66 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านหยวน มีบริษัทราว 30 รายเข้าจัดตั้งกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนำร่องดังกล่าวแล้ว
    ล่าสุด ในงานส่งเสริมการลงทุนในเขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง เมื่อเดือน
กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีการลงนามสัญญาการลงทุน 8 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,800 ล้านหยวน

    โครงการที่น่าสนใจ อาทิ ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งและยารักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น ตัวกลางชนิดใหม่ทางเภสัชกรรม (pharmaceutical intermediates) การแปรรูปเชิงลึกด้านอาหารเพื่อสุขภาพและวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์อาหารและยา สารโครงร่างของเซลล์ (cytoskeleton) กับศาสตร์การฟื้นฟูตับอ่อน การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีออนไลน์สำหรับ การบริการด้านการแพทย์แนวทางใหม่ (Digital Health) อย่างเช่น การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine จึงกล่าวได้ว่า...‘คลัสเตอร์อุตสาหกรรม’ ในสาขาการแพทย์และสุขภาพในเขตนำร่องฯ ได้เริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

    “การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น” เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เมืองฝางเฉิงก่างมีรากฐานอุตสาหกรรมโลหะกลุ่มเหล็ก (ferrous Metal) และโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous Metal) เป็น
ทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ไทเทเนียม เซอร์โคเนียม ทองแดง อะลูมิเนียม และสังกะสี จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้วัตถุดิบของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ได้เป็นอย่างดี

    ด้วยเหตุนี้ เขตนำร่องฯ กำลังเป็นจุดหมายใหม่ของผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่กำลังเคลื่อนฐานอุตสาหกรรมออกจากภาคตะวันออกของประเทศจีน รวมถึงการจัดตั้งของกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์จีน-อาเซียน (中国—东盟医疗装备产业联盟) ในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

    ข้อมูล ณ มิถุนายน 2566 เมืองฝางเฉิงก่างมีบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ที่จดทะเบียนแล้ว 73 ราย และตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 2 ปีนี้ จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทอุปกรณ์การแพทย์รายใหม่อย่างน้อย 50 ราย สร้างมูลค่าการผลิตมากกว่า 10,000 ล้านหยวน ปัจจุบัน เขตนำร่องแห่งนี้ยังเป็น “ฐานการวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรมและพรีคลินิก (Pre-clinic)” สำหรับองค์กร ผู้ให้บริการวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organization - CRO) และองค์กรรับจ้างพัฒนาและผลิตยา (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) ระดับชั้นนำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

    ตัวอย่างเช่น “ยาฉีด AHT-101 สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับอ่อน” นวัตกรรมด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพของบริษัท Innovos Biotech (是光科技) ที่ได้รับหนังสืออนุมัติการใช้ในทางคลินิกจากสำนักกำกับดูแลเภสัชภัณฑ์แห่งชาติจีน (National Medical Products Administration /国家药品监督管理局) แล้ว

    ปรากฎการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ก็คงต้องพูดคุยกันสักเล็กน้อยเกี่ยวกับการพัฒนาเขตนำร่องฯ เป็น “ฐานการแพทย์ดิจิทัล” (Digital Health) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการในช่องทางที่หลากหลาย สะดวก และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฐานข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Database) บล็อกเชน (Blockchain) การแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่งในการแพทย์ (Internet of Medical Things - IoMT)

    ตัวอย่างเช่น บริษัท Akang Health ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม/โซลูชันการให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ให้กับสถานพยาบาล (ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลที่ใช้แพลตฟอร์ม 5 แห่ง) อย่างบริการ “ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ - ซื้อยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ผ่านร้านขายยาออนไลน์ - การนัดพบแพทย์และตรวจดูผลการตรวจร่างกายผ่านระบบออนไลน์ - การซื้อประกันสุขภาพผ่านระบบออนไลน์”

    ที่สำคัญ บริษัท Akang Health กำลังแสวงหาช่องทางในการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Crossborder e-Commerce หรือ CBEC) ในการซื้อขายยาสามัญ (Generic Drug) ที่มีข้อจำกัดในการนำเข้า-ส่งออกที่เขตนำร่องฯ ของเมืองฝางเฉิงก่าง (คำอธิบายเพิ่มเติม ยาสามัญ คือ ยาที่ผลิตขึ้นโดยมีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาเหมือนกับยาต้นแบบ (Original drugs)

    พัฒนาการในปัจจุบันของ “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก บีไอซี เห็นว่า เขตนำร่องแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจที่ภาคธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีของไทยสามารถแสวงหาช่องทางการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม รวมถึงด้านการค้าการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

    โดยเฉพาะสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นอย่างเช่น “สมุนไพรไทยและอาหารเพื่อสุขภาพ” รวมถึงแพทย์ทางเลือก (ศาสตร์การนวดแผนไทย การนวดประคบ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสายตาผู้บริโภคชาวจีน ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพและสังคมสูงวัยของจีน อาศัยเขตนำร่องฯ เป็น “ก้าวแรก” ของการลุยตลาดจีน