รายงานภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี ๒๕๖๔ โดยสภาธุรกิจอาเซียน - สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council - USABC)

รายงานภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี ๒๕๖๔ โดยสภาธุรกิจอาเซียน - สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council - USABC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ก.ย. 2565

| 1,347 view

เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ สภาธุรกิจอาเซียน - สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council - USABC) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง e-Conomy SEA 2021 - Roaring 20s: the SEA Digital Decade เกี่ยวกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๖ ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งร่วมจัดทํากับบริษัท Google บริษัท Temasek และบริษัท Bain & Company โดยวิเคราะห์ภาพรวมการเติบโตของตลาดดิจิทัลและพฤติกรรมผู้ค้าและผู้บริโภคออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรายประเทศ สรุปสาระสําคัญได้ ดังนี้

 

ภาพรวมด้านการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ส่งผลให้การใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรวมกว่า ๔๔๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๓ จำนวน ๔๐ ล้านคน และมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet penetration) ในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๗๕ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยังส่งผลให้การใช้งานและการจับจ่ายใช้สอยด้วยช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกด้วย และคาดว่าผู้บริโภคจะใช้งานบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลหลักด้านความสะดวกสบายและบริการดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กําลังเข้าสู่ทศวรรษแห่งดิจิทัล (Digital Decade) โดยในปี ๒๕๖๔ เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandise Volume - GMV) ๑๗๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓๖๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๘ โดยอาจเติบโตถึง ๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๗๓ ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่สําคัญ ได้แก่ การเติบโตของธุรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) บริการขนส่งและจัดส่งอาหาร และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (fintech)[๑] โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและนักลงทุนให้ความสนใจ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (healthtech)[๒] และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (edtech)[๓] โดยในครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ การลงทุนด้าน healthtech มีมูลค่า ๙,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐด้าน และการลงทุนด้าน edtech มีมูลค่า ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ 

การเติบโตของ e-Conomy พฤติกรรมผู้ค้า/ผู้บริโภค และการระดมทุนรายประเทศ

อินโดนีเซีย

นับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์โควิด- ๑๙ เมื่อปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา อินโดนีเซียมีผู้บริโภคดิจิทัล (digital consumer) รายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า ๒๑ ล้านคน และผู้บริโภคกว่าร้อยละ ๗๒ มาจากพื้นที่นอกเขตเมืองใหญ่ สะท้อนถึงการขยายตัวของการค้าดิจิทัลในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัด คณะผู้วิจัยเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต และคาดว่าการค้าดิจิทัลของอินโดนีเซียจะมีมูลค่ารวมกว่า ๑๔๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ในปี ๒๕๖๘ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังคงเป็นหนึ่งในตลาดเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (fintech) ที่มีพลวัตที่สุดเนื่องจากอินโดนีเซียมีนโยบายค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องนี้และมีแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการเงินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้านผู้ค้าดิจิทัล (digital merchant) นั้น ผู้ค้ากว่าร้อยละ ๒๘ เห็นว่าการเปลี่ยนช่องทางจำหน่ายสินค้ามาสู่รูปแบบดิจิทัล รวมทั้งการรับชำระเงินในรูปแบบออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์โควิด- ๑๙

ฟิลิปปินส์

นับตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ฟิลิปปินส์มีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่จำนวน ๑๒ ล้านคน แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลอย่างเด่นชัดในรอบ ๑๘ เดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม ๒๕๖๓ - พฤศจิกายน ๒๕๖๔) แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ยังคงมีอัตราส่วนของผู้บริโภคดิจิทัลต่อจำนวนประชากรต่ำที่สุด โดยอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความโดดเด่นและสร้างกำไรสูงสุดในรอบ ๑๘ เดือนคือ ธุรกิจ e-commerce นอกจากนี้ คาดว่าในปี ๒๕๖๘ มูลค่าการค้า e-commerce ของฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓๒ หรือคิดเป็นจำนวนเงิน ๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมีผู้ค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๖๘

ระบบการชำระเงินออนไลน์ของฟิลิปปินส์เติบโตอย่างรวดเร็วจากการให้บริการ ๒ ช่องทางหลัก ได้แก่ (๑) บริการ e-wallet และ (๒) บริการชำระเงินออนไลน์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ (the national payment rail) คาดการณ์ส่า การลงทุนในธุรกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์จะยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด คือ e-commerce, fintech, healthtech และ edtech ตามลำดับ

มาเลเซีย

มาเลเซียมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่ ๓ ล้านคน โดยผู้บริโภคกว่าร้อยละ ๙๘ ประสงค์จะใช้บริการการสั่งสินค้าหรือบริโภคสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไปภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-๑๙ คาดว่ามูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandize Volume - GMV) ของมาเลเซียในปี ๒๕๖๔ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๗ หรือคิดเป็นมูลค่า ๒๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ทำรายได้สูงสุดในมาเลเซียคือ ธุรกิจ e-commerce และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง ๓๘,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๘

ในด้านการปรับตัวของผู้ค้าดิจิทัลนั้น ร้อยละ ๔๓ ของผู้ค้าดิจิทัลในมาเลเซียเชื่อว่า ธุรกิจจะไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-๑๙ ไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และบริการด้านการเงินดิจิทัลจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่อไปในอนาคต โดยคาดว่า ผู้ค้าดิจิทัลร้อยละ ๙๘ จะยังคงใช้บริการการชำระเงินออนไลน์ต่อไป และผู้ค้าร้อยละ ๗๒ จะหันมาใช้บริการสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้า ผู้ค้าดิจิทัลในมาเลเซียกว่าร้อยละ ๗๐ จะหันมาใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขายต่อไปในอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา การระดมทุนในธุรกิจดิจิทัลของมาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ามาเลเซียจะมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวใหม่ภายในปี ๒๕๖๕

เวียดนาม

เวียดนามมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่ ๘ ล้านคนตั้งแต่เริ่มสถานการณ์โควิด-๑๙ และได้กลายเป็นวิถีหลักของการบริโภคในชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม โดยผลสำรวจที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ ๙๙ จะยังคงใช้บริการการซื้อสินค้าทางออนไลน์ต่อไปภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙

ในภาพรวม ธุรกิจออนไลน์ของเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี และคาดว่ามูลค่าธุรกรรมรวมในตลาดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๑ หรือคิดเป็น ๒๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๔ โดยกว่าร้อยละ ๕๓ ของมูลค่ารวมดังกล่าวมาจากธุรกิจ e-commerce แม้ว่าในปี ๒๕๖๔ แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวและโรงแรมแบบออนไลน์จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการจำกัดการเดินทาง แต่คาดว่าในปี ๒๕๖๘ เศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของเวียดนามจะมีมูลค่าสูงถึง ๕๗,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในด้านการปรับตัวของผู้ค้าดิจิทัลในเวียดนาม ผู้ค้าร้อยละ ๓๐ เชื่อว่าธุรกิจจะไม่สามารถผ่านวิกฤตโควิด-๑๙ ไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และคาดว่าบริการด้านการเงินดิจิทัลจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่อไป โดยผู้ค้าร้อยละ ๙๙ คาดว่าจะยังคงใช้บริการด้านการชําระเงินออนไลน์ต่อไป นอกจากนี้ ร้อยละ ๗๒ ของผู้ค้าในเวียดนามจะยังใช้บริการสินเชื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นเช่นกัน และคาดว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้า ผู้ค้าดิจิทัลในเวียดนามกว่าร้อยละ ๗๒ จะหันมาใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขายต่อไป ในอนาคต

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่น่าสนใจ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อ การดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรม ทั้งจำนวนโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Start-up (incubator) โครงการสนับสนุนการเติบโตของ Start-up (accelerator) และห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (innovation labs) ที่มี จำนวนมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยมีธุรกิจดิจิทัลที่ได้รับการสนใจจากนักลงทุน ได้แก่ e-commerce, fintech, healthtech และ edtech

ไทย

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ไทยมีผู้บริโภคที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า ๙ ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘ ในปี ๒๕๖๔ เศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีมูลค่า ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มี ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๓ หรือเป็นคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ ๕๑ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ ๖๘ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะเติบโตได้ถึง ๕๗,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๘

ในด้านการปรับตัวช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ นั้น ผู้ค้าดิจิทัลในไทยกว่าร้อยละ ๓๔ เชื่อว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และผู้ใช้บริการร้อยละ ๙๒ จะยังคงใช้บริการด้านการชำระเงินด้วยช่องทางดิจิทัลต่อไป นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าการใช้งานด้านการเงินดิจิทัลของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค

ในภาพรวม รายงานเรื่อง e-Conomy SEA 2021 - Roaring 20s: the SEA Digital Decade เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังได้รับความสนใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และให้ข้อเสนอแนะว่าการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance - ESG) การเสริมสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล รวมถึงกฎระเบียบด้านการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ จะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

* * * * * * * * * *

สำนักงานเลขานุการกรม
กรมเอเชียตะวันออก
 มกราคม ๒๕๖๕

 

ที่มา:

(๑) รายงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของ SEA และไทยในรายงาน e-Conomy SEA 2021

(๒) Economysea. E-conomy SEA 2021 [Online], ๒๐๒๑, แหล่งที่มา: https://services.google.com/fh/files/misc/e_conomy_sea_2021_report.pdf



[๑] เทคโนโลยีทางด้านการเงิน (fintech) เช่น บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets) แอปพลิเคชันการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ (payment apps) VNLife ของเวียดนาม และ Mynt ของฟิลิปปินส์ และแอปพลิเคชันการลงทุนออนไลน์ (investment apps) Ajaib ของอินโดนีเซีย

[๒] เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (healthtech) เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านความงามและสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบออนไลน์ (online health and beauty specialists) การวินิจฉัยโรคโดยการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI-based diagnostics) และการแพทย์ทางไกลและการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยในรูปแบบออนไลน์ (telemedicine and remote patient care)

[๓] เทคโนโลยีด้านการศึกษา (edtech) เช่น การเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและการเรียนออนไลน์ (digital content and online learning) และการกวดวิชาออนไลน์ (online tutoring and test prep)