วันที่นำเข้าข้อมูล 13 เม.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 เม.ย. 2567
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำที่กระทรวงการต่างประเทศ และพลตำรวจเอกรอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคง ซี่งประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมืองเมียวดี ฝั่งเมียนมา และรับทราบปัญหาและผลกระทบทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนไทย รวมทั้งซักซ้อมและเตรียมความพร้อมของหน่วยราชการในพื้นที่ในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงในกรณีที่อาจจะมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) หลบหนีข้ามมาในฝั่งไทยด้วย
ในโอกาสนี้ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ได้ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ให้แก่คณะ และได้นำคณะเข้าสังเกตการณ์สถานการณ์บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ ๑ และแห่งที่ ๒ รวมทั้งสำรวจพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ทางจังหวัดและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ได้จัดเตรียมไว้สำหรับรองรับ ผภสม.ในกรณีที่สถานการณ์ในฝั่งเมียนมารุนแรงมากขึ้น
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางลงพื้นที่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และผลการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่หน่วยงานในพื้นที่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในฝั่งเมียนมาอย่างใกล้ชิดและมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตยของประเทศและคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนไทย รวมถึงได้เตรียมความพร้อมและมีแผนสำหรับรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ไว้แล้วเป็นอย่างดี
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำว่า เหตุการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นในฝั่งเมืองเมียวดีที่ผ่านมาตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาจะต้องพูดคุยกันเพื่อยุติความรุนแรง เพื่อให้เมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม และนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทั้งสองฝั่งต้องการ และสอดคล้องกับฉันทามติ ๕ ข้อของอาเซียนที่ไทยสนับสนุนมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังสะท้อนความจำเป็นที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากที่ได้เริ่มโครงการนำร่องแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ มี.ค. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
รูปภาพประกอบ