ข่าวดีรับฤดูผลไม้ไทย ท่าเรือชินโจวกว่างซีเพิ่มท่าเรือเป็น 5 เที่ยวต่อสัปดาห์

ข่าวดีรับฤดูผลไม้ไทย ท่าเรือชินโจวกว่างซีเพิ่มท่าเรือเป็น 5 เที่ยวต่อสัปดาห์

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ค. 2567

| 1,066 view

    ปัจจุบัน กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือคนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย กับท่าเรือแหลมฉบัง มีเที่ยวเรือสินค้าให้บริการรวม 11 เที่ยว โดย “ท่าเรือชินโจว” (Qinzhou Port/钦州港) ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีเที่ยวเรือด่วนบรรทุกผลไม้ที่เรียกว่า Fruits Express (水果快线) จำนวนสัปดาห์ละ 5 เที่ยว ช่วยให้สินค้าห่วงโซ่ความเย็นอย่าง “ทุเรียนสด” สามารถส่งถึงมือผู้บริโภคชาวจีนอย่างรวดเร็วและคงความสดใหม่

    กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ประกอบด้วยท่าเรือชินโจวท่าเรือเป๋ยไห่ และท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นกลุ่มท่าเรือ ‘ดาวรุ่ง’ ของประเทศจีน ปี 2566 กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่อันดับ 10 ของประเทศจีน โดยสามารถรักษาระดับการขยายตัวด้วยตัวเลขสองหลักติดต่อกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา

                         ท่าเรือ

    ในการจัดอันดับ 100 ท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของโลก พบว่า ปี 2566 “ท่าเรือชินโจว” อยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก ขยับขึ้น 5 อันดับจากปีก่อนหน้า (ปี 2564 อันดับ 44 / ปี 2565 อันดับ 35) โดยได้รับอานิสงส์จากยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ และการเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” และ “เรือ+รถบรรทุก” ทำให้มณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างหันมาใช้ประโยชน์จากท่าเรือของกว่างซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนผ่านกลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.4 โดยเฉพาะปริมาณตู้สินค้าหมุนเวียนกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 โดย 4 อันดับประเทศที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1/3 ของปริมาณรวมการขนถ่ายตู้สินค้าของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ชาติใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

    เหตุไฉน “ท่าเรือชินโจว” จึงเป็นอีกทางเลือกของสินค้าไทยบุกตลาดจีน โดยเฉพาะผลไม้สด
    (1) นอกจากจะได้รับอนุมัติเป็นด่านนำเข้าผลไม้แล้ว ยังมีได้รับอนุมัติเป็นด่านทดลองการนำเข้ารถยนต์ประกอบ
สำเร็จ ด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ ด่านนำเข้าธัญพืช ด่านนำเข้ารังนกขน ด่านนำเข้าไม้ และด่านนำเข้าโคมีชีวิตด้วย
    (2) มีเที่ยวเรือด่วนบรรทุกผลไม้ (Fruits Express) สัปดาห์ละ 5 เที่ยว ใช้เวลาเร็วสุดเพียง 2-3 วัน
    (3) มีโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ ปัจจุบัน ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port System) เปิดใช้งาน
แล้ว และเส้นทางรถไฟจากในท่าเรือมีโครงข่ายครอบคลุม 144 สถานีใน 18 มณฑลทั่วประเทศจีน
    (4) มีการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ระบบ Single window การลดขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรในส่วนที่เป็นระบบมือ (Manual) การลดจำนวนเอกสารการพัฒนาโมเดลศุลกากร “การรับตู้สินค้าข้างเรือ” “การขึ้นตู้สินค้าข้างเรือ” “การรับสินค้าก่อนค่อยส่งเอกสารตาม/Two-Step Declaration” การลดค่าใช้จ่ายให้เท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่แห่งอื่นในจีน และการกำหนดค่าขนส่งแบบราคาเดียว
และเอกสารขนส่งชุดเดียวตลอดเส้นทาง ซึ่งช่วยร่นเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรได้อย่างมาก

    ท่าเรือ2

ระบบงานขนส่งต่อเนื่อง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ ในท่าเรือชินโจว

    บีไอซี เห็นว่า “ท่าเรือชินโจว” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่มีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้ไทยมากที่สุดแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นรองรับการขนส่งโมเดล “เรือ+ราง” สะดวกต่อการกระจายสินค้าต่อไปยังตลาดทั่วประเทศจีนได้ อีกทั้งยังเชื่อมต่อการขนส่งไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วยรถไฟจีน-ยุโรป หรือ China-Europe Railway Express ได้อีกด้วย

    โดยเฉพาะในฤดูผลไม้ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ผู้ส่งออกสามารถใช้ “ท่าเรือชินโจว” เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนได้นอกเหนือจาก “ด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน” ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่ง เนื่องจากช่วงฤดูผลไม้ไทยกับเวียดนามใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแออัดและเกิดปัญหารถบรรทุกติดค้างบริเวณด่านทางบกก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง: บทความ "ข่าวดีรับฤดูผลไม้ไทย ท่าเรือชินโจวกว่างซีเพิ่มท่าเรือเป็น 5 เที่ยวต่อสัปดาห์" โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ของ สกญ. ณ นครหนานหนิง